SIAM UNIVERSE TRADING CO., LTD.

บทความ

การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

02-11-2563 11:29:17น.
   การหกล้มหรือลื่นล้ม หมายถึง การเปลี่ยนตำแหน่งของร่างการโดยไม่ได้ตั้งใจหรือควบคุมไม่ได้
 
 
สถานการณ์การลื่นล้ม
 
   ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักประสบการลื่นล้มและครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง ร้อยละ 40 ของการลื่นล้มทำให้กระดูกตะโพกหัก ร้อยละ 20 ของการบาดเจ็บเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต การลื่นล้มมักเกิดขึ้นในที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในห้องน้ำและบันได
 
   หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จะมีผู้ป่วยกระดูกหักจากการลื่นล้มที่บ้านเข้ารับการรักษาทุกเดือนประมาณเดือนละ 3-4 ราย และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีโรคประจำตัวซึ่งได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคหัวใจ บางรายมีไตวายเรื้อรัง ดังนั้นจึงทำให้การดูแลรักษาซับซ้อนมากขึ้น และขณะอยู่ในโรงพยาบาลก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ปอดบวม ติดเชื้อในระบบต่างๆ เป็นต้น
 
   อย่างไรก็ตามการลื่นล้มเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ โดยต้องทราบสาเหตุของการลื่นล้ม
 
 
สาเหตุของการลื่นล้ม
 
   สาเหตุทางกาย การทรงตัวไม่ดี ขาอ่อนแรง ชา อ่อนเพลีย หน้ามืด มีปัญหาด้านสายตาและ การได้ยิน รับยาที่มีผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิต เป็นโรคกระดูกพรุน
 
   สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม พื้นลื่น เปียก มีหยดน้ำ พื้นผิวขรุขระ ของใช้รก มีขั้นสูงต่ำ เป็นเนินพรมหนา ขอบไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ อุปกรณ์ของใช้ไม่มั่นคงชำรุด ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไม่เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้า รองเท้าไม่พอดี ทำงานเสี่ยง
 
 
การป้องกันการลื่นล้ม
 
   ห้องน้ำหรือสุขา - วัสดุที่ใช้ปูพื้นเป็นชนิดไม่ลื่น มีราวเกาะข้างฝาและบริเวณที่ต้องลุกอย่างมั่นคงใช้โถส้วมแบบชักโครก ห้องอาบน้ำมีที่นั่งขณะอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้า จัดวางของใช้ให้หยิบจับง่าย ในระดับข้อศอก
 
   ห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น - จัดของใช้ให้เป็นระเบียบ หยิบจับง่าย ไม่มีของเกะกะ ตามพื้นห้องโดยเฉพาะสายไฟ สายโทรศัพท์ พิจารณาใช้โทรศัพท์ไร้สาย จัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอโดยเฉพาะทางเดินไปห้องน้ำ ไม่มีสิ่งกีดขวาง ทางเดินในห้องนอนและห้องน้ำให้โล่ง ไม่มีหยดน้ำตามทางเดิน เคลื่อนไหวหรือลุกจากเตียงอย่างช้าๆ
 
   ห้องครัว - จัดข้าวของหรือเครื่องปรุงให้ง่ายต่อการใช้ เก็บของใช้ที่หนักไว้ในที่ต่ำ เช็ดหยดน้ำหรือน้ำมันทันทีที่หก เลี่ยงการขัดเงาที่พื้นห้อง หากมีความไม่ปลอดภัยในการทำงานให้ทำการแก้ไข
 
   บันได - เลี่ยงการใช้บันได ถ้าจำเป็นต้องใช้บันไดต้องมีความมั่นคง มีความกว้างพอดี ถอดแว่นตา งดอ่านหนังสือทุกครั้งขณะ ขึ้นหรือลงบันได ไม่รีบขึ้นหรือลงบันได
 
   พื้นทั่วไป - ดูแลทางเดินให้โล่ง ไม่มีหยดน้ำหรือสิ่งของกีดขวางทางเดิน ทางเข้าออกสะดวก มีสว่างเพียงพอ ไม่เก็บของใช้ในการทำสวนหรือทำงานไว้ในตามทางเดิน
 
 
การดูแลสุขภาพ
 
   รับประทานอาหารให้เพียงพอ เน้นผักและผลไม้ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและต้านทานโรค ไม่ควรงดอาหาร ทำให้อ่อนเพลีย มึนงง มีการเคลื่อนไหวทุกวันเดินหรือออกกำลังกายตามวัย เพื่อรักษาความยืดหยุ่นของข้อและสมดุลของร่างกาย เข้าสู่โปรแกรมการออกกำลังกาย ตรวจสายและการได้ยินเป็นประจำสม่ำเสมอถ้าพบปัญหาควรใช้อุปกรณ์ช่วย สอบถามแพทย์หรือเภสัชทุกครั้งที่รับยาถึงผลข้างเคียงของยา ถ้ารับยาที่มีผลทำให้ง่วงซึม หลับ ต้องปรับเปลี่ยนการทำกิจวัตรประจำวันเพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อการลื่นล้ม ห้ามผสมยากับแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพราะเป็นสาเหตุของการลื่นล้ม ไม่อายที่จะใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน จะทำให้เราปลอดภัย ตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยเดินให้มีความสูงเหมาะสม มั่นคง ปลายมียางหุ้ม เมื่อประสบกับการลื่นล้ม พยายามเอาส่วนที่หนาหรือมีอุปกรณ์นุ่มรองลงสู่พื้น หลังลื่นล้มไม่ควรรีบลุกให้สำรวจการบาดเจ็บก่อน ไม่ต้องกลัวลื่นล้มซ้ำแต่ให้วิเคราะห์สาเหตุแล้วแก้ไข
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: งานการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์  โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
โดยบุปผา จันทรจรัส